วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555








ผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรมจากไหมอีรี่ของเกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอีรี่ในจังหวัดต่างๆ

ตามที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โครงการเครือข่ายความร่วมมือ มก. สกว. งานวิจัยและพัฒนาด้านไหมอีรี่ จะจัดประชุมเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอีรี่ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนาไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม และดูงานด้านการเลี้ยงไหมอีรี่และการฝึกปฏิบัติในระหว่างวันที่ 15 -17 ตุลาคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ไหมอีรี่








ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 
 
ร่วมจัดแสดง ไหมอีรี่ ในงาน มหกรรมงานวิชาการ สกว. ประจำปี 2555 

ณ เมืองทองธานี

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นอกจากไหมหม่อนแล้วยังมีไหมป่า


ไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติ ผลิตจากรังที่ห่อหุ้มดักแด้ของหนอนไหม เส้นใยไหมมีความมันแวววาว โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ชาวจีนรู้จักเลี้ยงไหมมานานกว่า 4000 ปีแล้ว เพื่อเอาเส้นใยมาทำเครื่องนุ่งห่ม โดยถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าของแผ่นดิน สำหรับประเทศไทยมีการเลี้ยงไหมและทอผ้าใช้กันเองในครอบครัวมานานหลายร้อยปี แต่การพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมเริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นอกจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียแล้ว ชาวยุโรปก็รู้จักการเลี้ยงไหมมานานแล้วเช่นกัน และในเวลานั้นไหมถือเป็นผ้าพิเศษที่ทอขึ้นมาเพื่อใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินีและขุนนางชั้นสูงเท่านั้น ผ้าไหมเป็นสิ่งที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษถึงลูกหลานที่แต่ละชาติมีความภาคภูมิใจ ผ้าไหมไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่นและประเทศทางยุโรป จะมีความแตกต่างกันทั้งเนื้อผ้า ลวดลายปักบนผ้าและศิลปะการถักทอ ซึ่งทำให้ได้ผ้าที่มีคุณลักษณะต่างๆ กันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นที่รู้จักกันดีนั้น ส่วนมากมาจากไหมหม่อน (mulberry silkworm, Bombyx mori) ซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหารและมีประวัติการเลี้ยงมายาวนานจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสมบูรณ์  ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ



                นอกจากไหมหม่อนแล้วยังมีไหมป่าที่ให้เส้นใยใช้ทำเครื่องนุ่งห่มได้อีกถึง 8 ชนิด ได้แก่  Antheraea pernyi, A. yamamai, A. proylei, A. assamensis, A. mylitta, A. paphia, Philosamia ricini  และ P. cynthia แต่มีเพียง 3 ชนิดคือ ไหมทาซาร์ (tasar silkworm, Antheraea mylitta และ A. proylei)  ไหมมูก้า (muga silkworm,  Antheraea assama)  และไหมอีรี่ (eri silkworm,  Philosamia ricini)  ที่มีการเลี้ยงเป็นอาชีพในประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลี  ไหมอีรี่เป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถนำมาเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ครบวงจรชีวิต ส่วนไหมมูก้าและไหมทาซาร์นั้น ในช่วงผสมพันธุ์ต้องเอามาปล่อยไว้ในธรรมชาติบนต้นพืชอาหาร มิฉะนั้นผีเสื้อจะไม่ยอมผสมพันธุ์ ประเทศอินเดียและจีนมีการเลี้ยงไหมอีรี่กันมาก เพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้าใช้ในครอบครัว ในชุมชนหรือส่งเข้าอุตสาหกรรมไหมปั่นภายในประเทศ



                ไหมอีรี่ (Eri silkworm, Philosamia ricini) คำว่า eri เป็นภาษาสันสกฤตมาจากคำว่า eranda แปลว่า ต้นละหุ่ง ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักในการใช้เลี้ยงหนอนไหมอีรี่ ไหมอีรี่จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่น เนื่องจากเส้นใยไหมอีรี่เหนี่ยวนุ่มเป็นเงามัน ซักรีดง่ายคงทน และมีความสวยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี เมื่อสวมใส่แล้วให้ความอบอุ่น ไม่มีกลิ่นเหมือนผ้าที่ทอจากใยสังเคราะห์ ดังนั้นผลผลิตจากไหมอีรี่จึ่งมีราคาสูง และยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก



ไหมอีรี่นี้เริ่มมีการนำมาเลี้ยงที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 17 เดิมเรียกว่า Assam silk แต่ชาวอังกฤษเรียกว่า PALMA CHRISTI silk  ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่สำเร็จเป็นครั้งแรกโดย Wongtong et al. (1980) ที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ และทิพย์วดีและคณะ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2535 รายงานว่า ไหมอีรี่เมื่อเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ดีทัดเทียมกับที่เลี้ยงด้วยใบละหุ่งซึ่งเป็นพืชอาหารหลัก และใบมันสำปะหลังถ้าถูกเด็ดไปเลี้ยงไหมอีรี่ไม่เกิน 50% จะไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต และถ้าถูกเด็ดไปเพียง 30% กลับทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังสูงขึ้น



ด้วยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก จึงได้นำไหมอีรี่มาทำการเพาะเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังในท้องที่จังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันพบว่า ไหมอีรี่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อเลี้ยงด้วยมันสำปะหลังเป็นพืชอาหาร โดยทั่วไปชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันแทบทุกหมู่บ้าน จึงมีความชำนาญการเลี้ยงโดยไม่ต้องมาทำการเรียนรู้ใหม่ สามารถนำไหมอีรี่ไปเลี้ยง และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของไหมบ้านได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบเป็นอาชีพเสริมที่ดี